วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์การจัดการไม้ไผ่เชิงพาณิชย์

โดย .
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน)
1. คำนำ
ไผ่ เป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตเร็วที่สุดในโลก และถูกเรียกว่าเป็น ไม้ของคนยากจน ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไผ่จะมีบทบาทสำคัญต่อโลก  จากคุณสมบัติที่ไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ชาวญี่ปุ่น ได้มีการนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์มากกว่า 1,500 อย่าง ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ไม้ไผ่ในแง่ของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม ไผ่จึงเป็นพืชที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการพัฒนาการใช้ประโยชน์รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบ อันเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ผลิตตั้งแต่ระดับรากหญ้าขึ้นมา 
ในสังคมไทย ไผ่ได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย งานหัตถกรรมที่ทำจากไม้ไผ่แต่ละชิ้น สะท้อนไปถึงจิตวิญญาณของผู้ประดิษฐ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยทั่วไปแล้ว การใช้ประโยชน์ไผ่ในประเทศไทย จะอยู่ในรูปของการนำหน่อเป็นอาหาร ลำใช้ในการก่อสร้าง ปลูกเป็นรั้ว ทำเชื้อเพลิง ทำเครื่องดนตรี เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์การประมง  เครื่องใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์งานฝีมือ ทำก้านธูป บันได ใช้ปักเป็นหลักเลี้ยงหอยในทะเล ปลูกเพื่อความสวยงาม และใช้ในการปรับภูมิทัศน์ นอกเหนือจากประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ไผ่ ยังเป็นพืชที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการสนับสนุนให้ปลูกเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 
ไผ่ จัดเป็นพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   ในบรรดาพืชที่อยู่บนดินด้วยกัน ไผ่เป็นพืชที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุด จึงมีศักยภาพสูงในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และกักเก็บคาร์บอน ป่าโดยทั่วไปจะมีอัตราการเจริญเติบโตด้านชีวมวล 2-5% ต่อปี ในขณะที่ป่าไผ่อาจมีชีวมวลเพิ่มขึ้นถึง 30% ต่อปี  ไผ่มีความได้เปรียบเหนือไม้โตเร็วในแง่ของความยั่งยืนและความสามารถในการตรึงคาร์บอน ผลผลิตชีวมวลของป่าไผ่อายุ 6 ปี อาจสูงถึง 150 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ เปรียบเทียบกับ 126 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ของไม้สักอายุ 40 ปี และภายใต้การจัดการที่เหมาะสม ไผ่จะให้ผลผลิตเซลลูโลสต่อหน่วยเนื้อที่สูงกว่าไม้สน 2-6 เท่า  นอกจากนี้ ไผ่ยังเป็นไม้เบิกนำที่สามารถขึ้นได้บนพื้นที่ว่างเปล่า จึงสามารถช่วยปรับปรุงสภาพของระบบนิเวศในบริเวณป่าเสื่อมโทรมได้ในระยะเวลาอันสั้น จากระบบรากที่แผ่กว้าง และความหนาแน่นของเรือนยอด ทำให้ไผ่มีประสิทธิภาพสูงในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยป้องกันการชะล้างและการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินได้ดี โดยเฉพาะบริเวณริมคลองหรือริมตลิ่ง และยังช่วยปรับปรุงคุณภาพของดินให้ดีขึ้น  อันเป็นที่มาของชื่อ  “ดินขุยไผ่
กับปัญหาภาวะโลกร้อน ไผ่ เป็นพืชที่ถูกจับตามองว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ตามปกติแล้ว ต้นไม้ในป่าและในพื้นที่สีเขียวทั้งหลาย มีคุณสมบัติในการตรึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ก่อนที่ก๊าซนั้นจะสะสมอยู่ในบรรยากาศ  อันเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะเรือนกระจก  แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน พื้นที่ป่าทั่วโลกถูกทำลายมากขึ้น ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ในบรรยากาศมากขึ้น  การปลูกต้นไม้เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนใช้เวลานานนับสิบปี  ในขณะที่การปลูกไผ่ใช้เวลาเพียง 3-5 ปี  นอกจากนี้ป่าไผ่ยังปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนในอัตราที่สูงกว่าป่าธรรมชาติ 30 - 35%  และอุ้มน้ำและความชื้นไว้ได้มากกว่า           ป่าธรรมชาติถึง 2 เท่า
ปัจจุบันเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับไผ่ มีการพัฒนาและก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก ไผ่จึงไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันเท่านั้น เช่น ถ่านไม้ไผ่คุณภาพสูงที่ได้จากการเผาที่อุณหภูมิ 1,000 ํC ขึ้นไป  ด้วยเตาเผาถ่านที่มีประสิทธิภาพ จะมีความสามารถสูงในการดูดซับกลิ่น ความชื้น สารพิษ สารเคมี ช่วยฟอกอากาศ กำจัดแบคทีเรีย ช่วยปลดปล่อยประจุลบ และ อินฟราเรดคลื่นยาว ช่วยดูดซับรังสี  ช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น มีผลให้จิตใจแจ่มใส เบิกบาน ใช้ทำผลิตภัณฑ์สุขภาพนานาชนิด รวมถึงใช้ทำถ่านกัมมันต์(activated carbon) ซึ่งเป็นวัสดุคาร์บอนที่มีพื้นที่ผิวสูงมาก เนื่องจากมีรูพรุนจำนวนมหาศาล มีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนและไนโตรเจนได้สูงมาก ผงคาร์บอนที่ผลิตได้จากถ่านไม้ไผ่เมื่อนำมาผสมกับดิน นอกจากจะช่วยปรับปรุงบำรุงดินแล้ว ยังมีความสามารถในการดูดซับไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นกาซที่ไปทำลายชั้นโอโซนที่เป็นเกราะป้องกันรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตของโลกมากที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ถ่านไม้ไผ่ยังถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในอุตสาหกรรมต่างๆอีกมากมาย เช่น อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง ใช้ทำไส้กรองน้ำ ไส้กรองอากาศ  ใช้ปรับปรุงบำรุงดิน และใช้ในการบำบัดน้ำเสีย  เป็นต้น   
ในกระบวนการผลิตถ่านไม้ไผ่คุณภาพสูงนี้ นอกจากจะได้ถ่านไม้ไผ่แล้ว ยังได้น้ำส้มควันไม้ (wood vinegar) ที่มีคุณภาพดีและใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ผลิตสารดับกลิ่นตัว ยารักษาโรคผิวหนัง ใช้ผสมกับแชมพูรักษารังแค ผมร่วง เชื้อรา ป้องกันเห็บหมัดในสัตว์  ใช้ผสมน้ำพ่นหรือเช็ดถูพื้นกำจัดกลิ่นเหม็นจาก เชื้อราในบ้าน ใช้เป็นปุ๋ยปรับปรุงบำรุงดิน เป็นสารยืดอายุความสดของดอกไม้ ใช้ทำสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช สารเร่งการเจริญเติบโตของพืช  รวมถึงสารยับยั้งและควบคุมโรคพืชที่มีสาเหตุจากไส้เดือนฝอยและเชื้อรา  นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยในต่างประเทศว่า ไผ่เป็นพืชที่มีศักยภาพสูงในด้านพลังงาน โดยสามารถนำมาผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดที่มีค่าพลังงานความร้อนสูง หรือนำไปสกัดเป็นน้ำมันดิบชีวมวลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในอนาคตได้อีกด้วย
ปัจจุบัน เส้นใยจากไผ่เป็นวัตถุดิบที่เป็นที่ต้องการสูงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ  เนื่องจากเส้นใยไผ่นั้น มีคุณสมบัติพิเศษที่เหมาะกับการนำมาถักทอเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มระดับคุณภาพ มีความนุ่มเหมือนไหม ทนทาน ยืดหยุ่น  โปร่ง และซึมซับความชื้นได้มากกว่าผ้าฝ้าย ทำให้สวมใส่สบาย สามารถดูดซับรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (UV)   ป้องกันเชื้อแบคทีเรียได้ดี และที่สำคัญมีสารกำจัดกลิ่นอยู่ในตัว ทำให้เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยไผ่ไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็น อีกทั้งการปลูกไผ่เพื่อใช้เส้นใยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงเหมือนกับการปลูกฝ้าย เป็นการลดมลภาวะไปในตัว
ไม้ไผ่นั้นมีความแข็งแกร่งเหมือนไม้เนื้อแข็งหรืออาจเหนือกว่า โดยเฉพาะเมื่อนำมาแปรรูปเป็นไม้ประสานแล้ว จะมีความแข็งแกร่งใกล้เคียงกับเหล็กอ่อน (soft iron) เลยทีเดียว นอกจากนี้ไม้ไผ่ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และไม้พื้นคือ ไม่บวมหรือหดตัวมากเหมือนไม้เนื้อแข็งทั่วไป อีกทั้งมีความสามารถในการสร้างผลผลิตลำใหม่ทดแทนลำเก่าที่ถูกตัดออกได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็วและยั่งยืน ทำให้ไม้ไผ่มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นวัสดุทดแทนไม้จากป่าธรรมชาติในอนาคต ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการปลูกไผ่ มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น รวมถึงการหาแนวทางในการนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี อีกทั้งเป็นแนวทางในการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ให้ได้อย่างรวดเร็ว

2. วิสัยทัศน์
สร้างนวัตกรรมไผ่ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม
3. พันธะกิจ
1) ผลักดันไผ่ให้เป็นพืชสำคัญของประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
2) ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาไผ่ครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การใช้ประโยชน์ และการตลาด
3) วางแผน จัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรไม้ไผ่ในประเทศไทย
4) สร้างเครือข่ายผู้รู้ สาขาต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ไม้เชิงพาณิชย์
4. การประเมินสถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง
4.1 จุดแข็ง
1) ประเทศไทยเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ของไม้ไผ่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีไผ่อยู่ประมาณ 17 สกุล 72 ชนิด
2) ไผ่เป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว และเจริญเติบโตได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
3) ไผ่มีผลผลิตเนื้อไม้ต่อพื้นที่มากกว่าไม้โตเร็ว
4) สังคมไทยมีความคุ้นเคยและมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับไผ่มาช้านานทั้งใช้เป็นอาหาร เครื่องใช้ไม้สอย และเป็นเชื้อเพลิง
5) ไผ่เป็นพืชที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศมากกว่าพืชชนิดอื่นๆ
6) ไผ่มีเนื้อไม้ที่แข็งแรงสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการก่อสร้างได้ดีและหลากหลาย
7) ถ่านที่ทำจากไม้ไผ่ให้ค่าความร้อนสูง
8) ไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
9) สวนป่าไผ่สามารถคืนทุนได้เร็วกว่าไม้ชนิดอื่น

4.2 จุดอ่อน
1) ทัศนคติความเชื่อต่อไม้ไผ่ของสังคมไทยยังไม่ดีนักโดยเฉพาะเรื่องความแข็งแรงทนทาน และการต้านทานมอด
2) เทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพและการรักษาเนื้อไม้ไผ่ ยังมีข้อจำกัดและไม่แพร่หลาย
3) การแปรรูปไม้ไผ่ไปใช้ประโยชน์ด้านเภสัชกรรมยังไม่มีความหลากหลาย
4) ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าสูง ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีผลงานวิจัยสนับสนุน
5) ตลาดที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไม้ไผ่ส่วนใหญ่เป็นตลาดต่างประเทศที่ต้องการซื้อ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง
6) ขาดการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับไผ่อย่างเป็นระบบ
7) ขาดระบบการจัดการที่เชื่อมโยงกัน
8) การแปรรูปเป็นอาหารยังขาดงานวิจัยรองรับเกี่ยวกับประโยชน์ทางโภชนาการ
9) การรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ของไทยมีน้อย ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ
10) มีการปลูกไผ่โดยขาดการวางแผน ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด
4.3 โอกาส
1) ประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ความต้องการด้านปัจจัยสี่จึงเพิ่มขึ้น และไผ่เป็นพืชที่ตอบสนองในด้านดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
2) ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามาก สามารถปรับปรุงคุณภาพไม้ไผ่ให้ใช้ได้ทัดเทียมกับไม้ชนิดอื่น
3) ปัจจุบันกระแสด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีมาก มีการรณรงค์เรื่องการลดภาวะโลกร้อน ซึ่งไผ่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าพืชชนิดอื่น และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี
4) ความต้องการบริโภคหน่อไม้มีปริมาณมากขึ้น
5) ประเทศไทยมีพืชสมุนไพรที่ช่วยส่งเสริมการแปรรูปหน่อไม้ให้มีคุณภาพ
6) ผู้ใช้ประโยชน์ (แปรรูป) ไม้ไผ่ สามารถช่วยกำหนดการปลูกไผ่ให้เกษตรกรปลูกได้ตรงกับที่ตลาดมีความต้องการ
7) ปัจจุบันธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมีความต้องการไม้ไผ่จำนวนมากเพื่อก่อสร้างที่พักและประดับตกแต่ง
4.4 ข้อจำกัด /อุปสรรค
1) แหล่งไผ่ในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีกฎหมายที่เข้มงวดต่อการใช้ประโยชน์ เช่น เขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
2) ขาดการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับไผ่ อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การใช้ประโยชน์ การตลาดและการพัฒนาสิ่งแวดล้อม
3) การใช้ประโยชน์ไม้ไผ่เชิงอุตสาหกรรมมีข้อจำกัด
4) ความเชื่อที่ว่าการรับประทานหน่อไม้ไม่ดีต่อสุขภาพ


5. แนวคิด หลักการและทิศทาง
จากการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและข้อจำกัดหรืออุปสรรค (SWOT Analysis) ในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ไม้ไผ่ สามารถกำหนดแนวคิดในการพัฒนาและการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากไผ่ได้เป็น 7 ด้าน คือ อาหาร พลังงาน วัสดุ เส้นใย ยาและเภสัชกรรม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีหลักการ ดังนี้
5.1 แนวคิด หลักการ
5.1.1 ส่งเสริมการพัฒนาวัตถุดิบ
การใช้ประโยชน์ไม้ไผ่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงพาณิชย์นั้น ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งด้านฐานข้อมูลพื้นที่ปลูก ปริมาณผลผลิต รวมทั้งแหล่งปลูก ทั้งนี้เพื่อจะได้ทราบแหล่งที่มาและสามารถติดตามได้กรณีที่เกิดปัญหาด้านคุณภาพของวัตถุดิบ ซึ่งแนวคิดการส่งเสริมการพัฒนาวัตถุดิบประกอบด้วย 3 ด้าน คือ
1)            การจัดการแหล่งปลูก พื้นที่ปลูกถือเป็นแหล่งต้นน้ำของการผลิตไผ่ซึ่งเดิมประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์ไผ่ที่เป็นแหล่งจากป่าธรรมชาติมากกว่าการปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ควรมีการจัดการแหล่งปลูกโดยการให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนพื้นที่ปลูกไผ่ทั่วประเทศ
2)            การจัดการคุณภาพวัตถุดิบจากไผ่ทั้งในรูปของหน่อไม้และลำไผ่มีความแตกต่างกันในแต่ละชนิดซึ่งอาจมีคุณลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน เช่นบางชนิดเหมาะสำหรับกินหน่อ บางชนิดเหมาะสำหรับการทำเครื่องใช้ไม้สอย ขณะที่บางชนิดสามารถนำไปทำเส้นใยผลิตกระดาษและอื่นๆเป็นต้น ดังนั้นการจัดการคุณภาพของวัตถุดิบจากแหล่งต้นน้ำจึงมีความจำเป็น ซึ่งการดำเนินการอาจทำในรูปของการกำหนดมาตรฐานของแหล่งปลูก หรือมาตรฐานของวัตถุดิบแต่ละประเภท
3)                  การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก จนถึงการแปรรูป
5.1.2 พัฒนาการใช้ประโยชน์ไผ่
การพัฒนาการใช้ประโยชน์ไผ่ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง ซึ่งไผ่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย จำแนกได้ประมาณ 7 กลุ่ม คือ (1) อาหาร (2) เส้นใย (3) วัสดุ ( 4) ยาและเภสัชกรรม (5) พลังงาน (6) ด้านสิ่งแวดล้อม และ(7) การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่วนด้านที่ควรมีการเร่งรัดการพัฒนาเนื่องจากดำเนินการได้เร็วคือ ด้านอาหาร ด้านพลังงาน ด้านวัสดุและเส้นใย  
1)            การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากไผ่  เนื่องจากหน่อไม้เป็นผลผลิตที่นำมาใช้เป็นอาหารมาอย่างแพร่หลาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์หน่อไม้ทั้งด้านรูปแบบ คุณภาพ และมาตรฐาน ให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่อาหารจากไผ่
2)            การพัฒนาด้านพลังงานจากไผ่  การใช้ประโยชน์ไผ่ด้านพลังงานยังเป็นไปอย่างจำกัดมีมูลค่าไม่มากนัก เช่น การนำเข้าถ่านจากไม้ไผ่ปี 2550 ถึงปี 2553 คิดเป็นมูลค่า 1.02 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกในช่วงเดียวกันมีมูลค่า 201.51 ล้านบาท อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นและ ผันผวนมากทำให้อุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล พยายามเสาะหาพลังงานทางเลือกอื่นมาทดแทน ซึ่งคุณสมบัติของไม้ไผ่ที่ปลูกง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตเนื้อไม้สูง จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงหรือแปรรูปไปใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน
3)            การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ การใช้ประโยชน์ไม้ไผ่เป็นวัสดุก่อสร้างหรือโครงสร้าง  ในอดีตมีการตัดลำไผ่มาใช้ประโยชน์โดยตรงซึ่งอายุการใช้งานสั้น เนื่องจากปัญหามอดเจาะ แต่ปัจจุบันได้มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์จากไผ่ที่ใช้เพื่อการก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์มีความแข็งแรง และทนทานมากขึ้น และการสร้างนวัตกรรมด้านการใช้ประโยชน์ จะทำให้ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่มีคุณภาพเท่าเทียมกับผลิตภัณฑ์จากไม้และวัสดุอื่นๆ
4)            การพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นใยไผ่ การใช้ประโยชน์ไผ่ด้านเส้นใยส่วนใหญ่นำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตกระดาษ แต่เนื่องจากไผ่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติและเป็นเขตป่าอนุรักษ์ การนำมาใช้ประโยชน์จึงทำอย่งจำจัด ทำให้อุตสาหกรรมกระดาษหันไปใช้เส้นใยจากพืชชนิดอื่นทดแทน ส่วนมูลค่าการนำเข้าและส่งออกเส้นใยจากไม้ไผ่ระหว่างปี 2550-2553 มีมูลค่าเพียง 459.22 และ 1.92 ล้านบาทเท่านั้น แต่จะเห็นได้ว่าการใช้เส้นใยในอุตสาหกรรมกระดาษเกือบจะเป็นการนำเข้าทั้งหมด ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาเส้นใยจากไผ่เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงในการสร้างผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากไผ่ที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

5.2 การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าไปสู่โลกของการเป็นตลาดเสรี เนื่องจากระบบทุนนิยมได้แผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจในรูปของประชาคมอาเซียน ประชาคมยุโรป กลุ่มผู้ผลิตและค้าน้ำมันเป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะแข่งขันในตลาดเสรีได้
          การปรับปรุงแก้ไข กฏหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

5.3 การส่งเสริมด้านการตลาด
ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์ไม้ไผ่อยู่ในวงที่จำกัดเช่นด้านอาหารและไม้ใช้สอย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตชนบทซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ทำให้ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่มีราคาถูก อย่างไรก็ตามหากมีการถ่ายทอดผลงานวิจัย ต่อเกษตรกรผู้ปลูกและผู้ประกอบการ  รวมทั้งการนัดประชุมเพื่อจับคู่ด้านธุรกิจให้กับผู้เกี่ยวข้อง จะทำให้เกิดความมั่นใจทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ
5.4 การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
        ไผ่เป็นพืชในตระกูลหญ้ามีการเจริญเติบโตได้ดีในทั่วทุกภาคของประเทศไทยทั้งยังมีระบบรากที่ช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำได้เป็นอย่างดี ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าในพื้นที่ปลูกที่เท่ากันไผ่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าพืชชนิดอื่นๆ อีกทั้งช่วยปรับสมดุลให้กับระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี

6. ยุทธศาสตร์การจัดการไม้ไผ่เชิงพาณิชย์
เพื่อให้การจัดการเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ไม้ไผ่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศชาติ จึงกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาตามยุทธศาสตร์ เพื่อให้ไม้ไผ่เป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ โดยกำหนดเป้าประสงค์ แนวทาง มาตรการ ในการดำเนินงานแต่ละกลยุทธ์ ดังนี้

6.1 กลยุทธ์
เพื่อความสอดคล้องของทิศทางการพัฒนาการใช้ประโยชน์ไม้ไผ่ ได้กำหนดกลยุทธ์รองรับไว้ 5     กลยุทธ์คือ

6.1.1 ส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบไม้ไผ่ที่มีคุณภาพ
เนื่องจากไผ่เป็นพืชที่มีการส่งเสริมให้ปลูกกันมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับไผ่ เช่น ข้อมูลพื้นที่ปลูก จำนวนเกษตรกร รวมทั้งเอกสารวิชาการเกี่ยวกับการปลูกไผ่ จึงต้องเร่งดำเนินการโดยเร็วเนื่องจากจะเป็นฐานข้อมูลต่อยอดให้กับกลยุทธ์อื่น

6.1.2 ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
ข้อด้อยของผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่คือเรื่องของความทนทานเนื่องจากขาดเทคโนโลยีการรักษารเนื้อไม้ไผ่ ดังนั้นการจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงคุณภาพเรื่องความทนทานต่อมอด ปลวกและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเพื่อสร้างการยอมรับผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่
6.1.3 การปรับปรุงแก้ไขปัญหา กฎ ระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่
จากการพิจารณาถึงโอกาสในการทำตลาดผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ส่งต่างประเทศ พบว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมูลค่าสูง แต่มีอุปสรรคที่กฎระเบียบบางประการทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถขยายธุรกิจหรือเพิ่มการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังเป็นการรองรับตลาดแข่งขันเสรีในอนาคตด้วย
6.1.4 การส่งเสริมด้านการตลาด
ที่ผ่านมาการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เฉพาะกลุ่มทำให้เป็นข้อจำกัดทางการตลาดที่ไม่สามารถขยายได้มากนัก ดังนั้นอนาคตที่หากมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ให้เป็นที่ยอมรับได้จะเป็นการเปิดตลาดและสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจที่เกี่ยวกับไผ่ได้เป็นอย่างดี
6.1.5 การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
จากคุณสมบัติของไผ่ที่ปลูกง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตเนื้อไม้สูง ระบบรากลึก และคายออกวิเจนสู่บรรยากาศมากกว่าพืชชนิดอื่น ดังนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไผ่จะได้ประโยชน์ทางอ้อมคือการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ และช่วยการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

6.2 เป้าประสงค์ มาตรการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ
6.2.1 กลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบไม้ไผ่ที่มีคุณภาพ
1) เป้าประสงค์
เพื่อให้การปลูกและการผลิตไผ่ของเกษตรกรมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด
2) มาตรการและหน่วยงานรับผิดชอบ
(1) จัดทำระบบฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกไผ่
หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กรมส่งเสริมการเกษตร
(2) ส่งเสริมการปลูกไผ่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ (Zoning)
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร 
(3) การพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการปลูกไผ่ (รวมถึงการรับรองพันธุ์)
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร
(4) ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำสัญญาร่วมกับเกษตรกร (contract farming)
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
(5) จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการส่งออก
(6) จัดทำคู่มือการปลูกไผ่
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
6.2.2 กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ให้มีคุณภาพดี และมีมูลค่าสูง
1) เป้าประสงค์
พัฒนางานวิจัยสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ให้มีคุณภาพดี และมีมูลค่าเพิ่ม สร้างโอกาสทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์
2) มาตรการและหน่วยงานรับผิดชอบ
(1) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์ไผ่เพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าผลิตภัณฑ์
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมวิชาการเกษตร กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ สวทช.
(2) ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับไผ่ที่มีโอกาสทางการตลาดสูง
หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันการศึกษา
(3) พัฒนาองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการใช้ไผ่
หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กรมการพัฒนาชุมชน
(4) การเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับเครือข่ายต่างประเทศที่มีการใช้ประโยชน์ไม้ไผ่มากเช่น จีน
หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กรมป่าไม้

6.2.3 กลยุทธ์ที่ 3 แก้ปัญหา กฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่
1) เป้าประสงค์
ลดอุปสรรคเกี่ยวกับ กฎ ระเบียบ ข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจส่งออกของผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ
2) มาตรการและหน่วยงานรับผิดชอบ
(1) รวบรวม กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ไผ่/การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับไม้ไผ่และปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(2) จัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับน้ำส้มควันไม้
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
6.2.4 กลยุทธ์ที่ 4 การส่งเสริมด้านการตลาด
1) เป้าประสงค์
เพิ่มขีดความสามารถด้านการตลาดให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรด้านการตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ
2) มาตรการและหน่วยงานรับผิดชอบ
(1) ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมไผ่ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจสีเขียว (Creative and Green Economy)
หน่วยงานรับผิดชอบ สถาบันการเงิน กองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธกส. SMEBank กองทุนพัฒนาสหกรณ์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการส่งออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
(2) แสวงหาตลาดใหม่ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการส่งออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
(3) ส่งเสริมให้ความรู้การใช้ประโยชน์ไม้ไผ่ เพื่อขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ
หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(4) สร้างเครือข่ายผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ไผ่
หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
(5) จัดงานแสดงสินค้าให้กับผู้ประกอบการและจัดคู่ค้าทางธุรกิจ (Matching) ทั้งตลาดในและต่างประเทศ
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมส่งเสริมการส่งออก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
(6) วางแผนรองรับการประกาศของประชาคมยุโรปในปี ค.ศ. 2013 กำหนดให้ไม้ที่ทำเครื่องใช้ระบุแหล่งที่มาที่ชัดเจน
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมส่งเสริมการส่งออก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

(7) จัดกิจกรรมสร้างกระแสเกี่ยวกับไผ่และการใช้ประโยชน์จากไผ่
หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(8) ให้สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) มีหน่วยสำหรับสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องไม้ไผ่สู่ภายนอก
หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

6.2.5 กลยุทธ์ที่ 5 การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
(1) เป้าประสงค์
ช่วยการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ และเพิ่มปริมาณออกซิเจน สู่ชั้นบรรยากาศ ช่วยลดดภาวะโลกร้อน
(2) มาตรการและหน่วยงานรับผิดชอบ
(1) ส่งเสริมการปลูกไผ่ในพื้นที่ป่าชุมชน ที่สาธารณะ และเปิดโอกาสให้ชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมให้เกิดการจัดการไผ่สู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
(2) ส่งเสริมการปลูกไผ่ภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองการใช้วัตถุดิบ
หน่วยงานรับผิดชอบ กรมส่งเสริมการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ
*******************************
ลุงยักษ์ เฒ่าเผาถ่านพิทักษ์โลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น