วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

 น้ำส้มควันไม้ไผ่
 ( Bamboo Vinegar )


     น้ำส้มควันไม้ไผ่  เป็นผลผลิตที่ได้จากการเผาถ่านไม้ไผ่ ภายใต้สภาพอับอากาศ ( Airless Condition ) เมื่อผ่านแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้ไม้สดให้สัมผัสอากาศเย็น จะทำให้ไอกลั่นตัวลงจนเป็นของเหลว      น้ำส้มควันไม้ไผ่ เป็นสารปรับปรุงดิน และสารเร่งการเจริญเติบโตของพืช ( Plant growth accelerating substances ) สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และควบคุมโรคพืชสาเหตุจากไส้เดือนฝอย ( Nematode ) เชื้อรา นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติเป็นฮอร์โมนพืช น้ำส้มสกัดจากควันไม้ไผ่ มีสารประกอบทางเคมีมากกว่า 260 ชนิด ที่สำคัญ คือ :-
  1. กรดอะซิติก ( Acetic acid )
  2. ไนโตรเจน ( Nitrogen )
  3. ฟอสฟอรัส ( Phosphorus )
  4. โพตัสเซี่ยม.(Potassium )
  5. ฟอฺร์มาลดิไฮด์ ( Formaldehyde )
  6. เอธิล เอ็น วาเลอเรต ( Ethyl-n-valerate )
  7. เมทธานอล ( Methanol )
  8. น้ำมันทาร์ ( Tar )     ฯลฯ

สารประกอบที่สำคัญในน้ำส้มควันไม้ไผ่

  1. กรดอะซิตริก เป็นสารกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส
  2. สารประกอบฟีนอล เป็นสารในกลุ่มควบคุมการเจริญเติบโตของพืช
  3. ฟอร์มอลดีไฮด์ เป็นสารในกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค และแมลงศัตรูพืช
  4. เอธิล เอ็น วาเลอเรด เป็นสารในกลุ่มเร่งการเจริญเติบโตของพืช
  5. เมทธานอล เป็นสารในกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส
  6. น้ำมันทาร์ เป็นสารจับใบช่วยลดการใช้สารเคมี

คุณสมบัติของ น้ำส้มสกัดจากควันไม้ไผ่

  • ช่วยป้องกันและกำจัดศัตรูพืช
  • เร่งการเจริญเติบโตของรากพืช
  • ช่วยฟื้นฟูและปรับสภาพดินให้ร่วนซุย
  • ช่วยให้พืชออกดอกและติดผลง่ายขึ้น
  • ช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรงต้านทานโรค

วิธีใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่

ใช้ฉีดพ่นใบพืช  ใช้ 2-3 ครั้ง หรือทุก 15 – 20 วัน ในช่วงฤดูการเพาะปลูกและเติบโตจนถึง 15 วันก่อนการเก็บเกี่ยว ในการใช้ก่อนการเก็บเกี่ยวนั้น สารอินทรีย์ในน้ำส้มควันไม้ไผ่จะช่วยเร่งการหมักตัวของกรดอมิโนและน้ำตาล ซึ่งจะเพิ่มรสหวานและกลิ่นหอมของผลไม้

     ในกรณีของผัก ฉีดน้ำส้มควันไม้ไผ่ก่อนเก็บเกี่ยว ช่วยให้คุณภาพและรสขาดดีขึ้น รวมทั้งชะลอการเหี่ยวเฉา สำหรับผักใบใช้ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ก่อนเก็บเกี่ยว

     กรณีผลไม้และผักกินใบที่ใช้เวลานานในการเก็บเกี่ยว ควรใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ 2 หรือ 3 ครั้ง ทุก 15 – 20 วัน เริ่มจากช่วงต้นของการเก็บเกี่ยว

     สำหรับผลไม้เมื่อผลไม้โตเต็มที่และเริ่มสุก เช่น ส้มจีน เมื่อสีเริ่มเปลี่ยนควรใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ 1 – 2 ครั้ง ทุก 20 วัน จนถึง 15 วันก่อนเก็บเกี่ยว

แนวทางการใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ :

  • ความเข้มข้น โดยทั่วไปการใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ควรเจือจางประมาณ 300 : 1 ถึง 1000 : 1
  • ความเข้มข้นที่เจือจางน้อยกว่า 300 : 1 อาจส่งเสียต่อพืช ซึ่งอาจมีอาการดังนี้
  1. จุดบนใบ
  2. พืชหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราว
  3. การเติบโตของตัวถูกเร่ง ชะลอการเติบโตของผล

อาการใน . ข้อ 1 และข้อ 2 เป็นผลมาจากกรดชีวภาพในน้ำส้มควันไม้ไผ่
                ข้อ 3 มาจากการที่ใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่มีคุณสมบัติเป็นตัวเร่งสันดาป และการดูดซึมอาหารของพืช

     ข้อแนะนำก็คือควรทดลองใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ในพืชแต่ละชนิด และสังเกต 3 – 4 วัน ก่อนจะใช้อย่างเต็มที่ ควรใช้อย่างระมัดระวังในพืชที่มีความไวต่อสารเคมีและพืชใบอ่อน

     ในการเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำส้มควันไม้ไผ่ สามารถใช้ร่วมกับสาหร่ายทะเล ปลาหรือก้างปลาที่สกัดได้ โดยใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว จากที่ได้กล่าวมาแล้ว ใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ร่วมกับยาเคมีเกษตรจะมีประสิทธิภาพมากกว่าใช้แยกกัน และน้ำส้มควันไม้ไผ่สามารถที่จะใช้ร่วมกับกระเทียม ช่วยป้องกันแมลงและการติดเชื้อราได้ การใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ร่วมกับยาเคมีเกษตร

     สารเคมีเกษตรละลายได้ดี และทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในของเหลวที่มีค่า pH ประมาณ 4 – 5 ดังนั้นผสมน้ำส้มควันไม้ไผ่ซึ่งเจือจางแล้ว 500 – 1000 เท่า จะทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และสามารถลดปริมาณการใช้ รวมถึงไม่จำเป็นต้องใช้ตัวช่วยที่ทำให้สารเคมีติดอยู่กับพืช เนื่องจากน้ำมันทาร์ในน้ำส้มควันไม้ไผ่ได้ทำหน้าที่นี้แล้ว แต่น้ำส้มควันไม้ไผ่ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารที่เป็นด่าง

การใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ใช้ในการบำรุงดิน ผลดีที่จะได้กับดินมีดังนี้

  1. ความเสียหายที่เกิดจากแมลงและโรคในดินลดลง
  2. เพิ่มประสิทธิภาพให้ปุ๋ย โดยทำให้ง่ายต่อการดูดซึมของพืช
  3. ลดความเสียหายอันเกิดจากความเค็ม

     ควรจะใช้ร่วมกับอย่างอื่น เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ในการปรับคุณภาพของดินในระยะยาว โดยเฉพาะดินซึ่งเสื่อมคุณภาพ อันเกิดจากการเก็บเกี่ยวไม่ดี และการใช้สารเคมีเกินควร      น้ำส้มควันไม้ไผ่   ที่ใช้ใส่ในดินควรมีความเข้มข้นสูงกว่าที่ใช้บนใบพืช      น้ำส้มควันไม้ไผ่ซึ่งมีความเข้มข้น 30 ต่อ 1 ถูกใช้ในปริมาณ 6 ลิตรต่อ 1 ตารางเมตร โดยทั่วไปในการฆ่าเชื้อในดินปรือขจัดไส้เดือนฝอย ความเข้มข้นที่สูงกว่านี้สามารถนำไปใช้ได้โดยปกติ การฆ่าเชื้อในดินควรใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ซึ่งมีค่า pH 3 และมีความด่างจำเพาะ 1.014 และเจือจาง 8 เท่าตัว โดยใช้ปริมาณ 1 ลิตรต่อ 1 ตารางเมตร อย่างไรก็ดี ไส้เดือนฝอย มีความต้านทานสูง ต้องใช้เวลา 3 – 4 ปีเพื่อขจัดให้หมดสิ้น

การใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่สำหรับดินปลูกผัก

     ให้ใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ ความเข้มข้น 30 ต่อ 1 ก่อนปลูกโดยใช้ 6 ลิตรต่อ 1 ตารางเมตร ควรจะให้น้ำส้มควันไม้ไผ่ซึมลงในดินประมาณ 50 ซม. โดยจะทำก่อนหรือหลังการไถดินก็ได้      ควรใช้ปุ๋ยหมักก่อนใส่น้ำส้มควันไม้ไผ่ เนื่องจาก หากใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ก่อนอาจจะฆ่าจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นควรใส่ปุ๋ยหมักก่อน และสุดท้ายพรวนลงไปร่วมกัน ควรใช้ปุ๋ยหมักและน้ำส้มควันไม้ไผ่ช่วยพัฒนาคุณภาพดินในระยะยาว

การใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่สำหรับไม้ผลและพืชที่ปลูกในกระถาง

     กรณีไม้ผล ให้รดสิบจุดรอบต้นไม้ในบริเวณที่โดนฝน และมีรากเล็ก ควรเจือจางน้ำส้มควันไม้ไผ่ 30 – 50 เท่า และใช้ 500 ลิตรต่อ 1000 ตารางเมตร      กรณีไม้กระถาง ผสมน้ำส้มควันไม้ไผ่กับดินและทิ้งไว้ 10 – 15 วัน เพื่อระบายก๊าซออกก่อนใส่ในกระถาง การใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ใช้ในการหมักปุ๋ย      ช่วยเร่งขบวนการหมักโดยเฉพาะมูลสุกรและมูลไก่ การหมักจะเร็วขึ้นถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น อุณหภูมิของปุ๋ยที่หมักมา 4 วัน จะสูงถึง 80 องศาเซลเซียส ถ้าใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ช่วย     ควรใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ที่เจือจาง 100 เท่า รดลงบนปุ๋ย แต่ควรระวังไม่ควรใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ซึ่งเข้มข้นกว่านี้ เนื่องจากจะไปฆ่าเชื้อ       เมื่อรากพืชเป็นโรค ให้ใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่เจือจาง 100 – 200 เท่า รดที่โคนต้น ให้ชุ่มจนลึก 50 ซม. สำหรับมะเขือเทศและแตงกวา ให้ใช้ 1 – 2 ลิตรต่อต้น เพื่อเพิ่มความสดชื้นแข็งแรงและพัฒนาการของราก

การใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่เป็นตัวลดกลิ่นหรือเป็นอาหารเสริม    

  1. การลดกลิ่นมูลสัตว์ ให้รดมูลสัตว์หรือพื้นคอกเลี้ยงสัตว์ด้วยน้ำส้มควันไม้ไผ่เจือจาง 50 เท่าบ่อยครั้งเท่าที่จะทำได้    
  2. น้ำ ส้มควันไม้ไผ่สามารถเป็นอาหารเสริมสำหรับสัตว์ โดยช่วยปรับระดับแบคทีเรียในลำใส่และอำนวยการดูดซึมสารอาหาร ทำให้เนื้อไก่มีสีชมพู และลดปริมาณน้ำในเนื้อไก่เหลือประมาณร้อยละ 3 ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณภาพไก่โดยรวม      เพราะน้ำส้มควันไม้ไผ่ซึ่งได้ผ่านการกลั่นอย่างดีแล้วเท่านั้น จึงสามารถจะใช้กับสัตว์ได้ การผสมในอาหาร ให้ราดจนชุ่มบนรำข้าว ซึ่งขจัดไขมัน หลังจากนั้นผสมในอาหารสัตว์ในอัตราส่วน 99 ต่อ 1 ส่วนผสมนี้เหมาะสำหรับสัตว์ใหญ่

ข้อคิดเห็นโดยรวม

  1. น้ำส้มควันไม้ทำหน้าที่เหมือนเป็นฮอร์โมน ช่วยในการเจริญเติบโต
  2. การให้น้ำส้มควันไม้ร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพจะได้ผลดีกับพืช
  3. การใช้น้ำส้มควันไม้กับผักที่กินผล หัว หน่อ ต้องใช้ถี่กว่าผักกินใบในการป้องกันเพลี้ย หนอน
  4. ถ้าใช้น้ำส้มฯอัตราที่เข้มข้นมาก จะทำให้ใบเหี่ยว แห้ง และตาย
  5. หาก ใช้น้ำส้มฯมีความเข้มข้นมากจะทำให้สัตว์ป่วย เช่น เกิดท้องร่วง เชื่องซึม ซึ่งแก้ได้โดย กรอกน้ำเปล่าให้กับสัตว์เลี้ยง หรือคั้นน้ำฟักเขียวสดกับน้ำเปล่ากรอก หรือตำปูนาผสมกับฟักเขียวคั้นกรองให้สัตว์กิน
 
 
      หมายเหตุ :- ขบวน การผลิต ( ขั้นตอนการผลิต ) น้ำส้มควันไม้ ( Wood Vinegar) ได้ถูกปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปหลากหลายรูปแบบ แต่คงต้องยอมรับความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่าแนวความคิดการเก็บน้ำส้มควันไม้ จากการเผาถ่านนั้น   เราได้รับความคิดและกรรมวิธีการเก็บน้ำส้มควันไม้ จากประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่อง น้ำส้มควันไม้มาก่อน  ซึ่งกว่าที่ประเทศญี่ปุ่นจะเผยแพร่เรื่องน้ำส้มควันไม้ออกมาสู่ผู้บริโภค อนู้ในปัจจุบัน ทั้งกรรมวิธีการผลิตและคุณประโยชน์ ได้ผ่านขบวนการลองผิดลองถูกมานานหลายสิบปี และยังได้ทำการวิจัยศึกษาค้นคว้าหาส่วนประกอบของน้ำส้มควันไม้ว่ามีองค์ ประกอบอะไรบ้าง มีสารประกอบกี่ชนิด มีคุณสมบัติอย่างไร มีวิธีใช้อย่างไร ซึ่งต้องใช้ขบวนการพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงพอสมควร นั่นคือต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือและความรู้เบื้องต้นก่อนจะเจาะลึกเข้าไป หาความรู้ใหม่ ๆ ของน้ำส้มควันไม้ได้

     ขั้นตอนการผลิตหรือขั้นตอนการเก็บน้ำส้มควันไม้ ญี่ปุ่นได้มีการกำหนดไว้เป็นมาตรฐานเลยว่า อุณหภูมิภายในเตาต้องเท่าไรจึงจะได้ส่วนที่เป็นน้ำส้ม อุณหภูมิที่เท่าใดที่จะต้องหยุดเก็บ อูณหภูมิที่เริ่มขบวนการเผาถ่าน   ควันที่ถูกปล่อยออกมาสามารถเก็บเอาน้ำที่เราทำให้กลั่นตัวเป็นหยดน้ำได้หรือ ไม่   เหล่านี้ล้วนต้องอาศัยความรู้จริง ๆ จึงจะได้น้ำส้มควันไม้ ที่ได้มาตรฐาน

ส่วนประกอบของเนื้อไม้ที่สำคัญ คือ :-   

  1. คาร์บอน
  2. กรด
  3. ด่าง     

ซึ่งมีลักษณะเป็นของแข็งและของเหลวประกอบกันอยู่

     แต่ถ้าขาดความรู้เบื้องต้นเหล่านี้แล้วพากันโมเมว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นคือ น้ำส้มควันไม้ ก็จะเจอปัญหาหรือคำถามที่ว่า  ทำไมน้ำส้มควันไม้ที่ชาวบ้านผลิตได้ในปัจจุบัน เมื่อนำไปวิเคราะห์ทดสอบเบื้องต้นจึงมีค่าเป็น " ด่าง " ( ค่า pH สูง )   ซึ่งตามมาตรฐานญี่ปุ่นนั้น น้ำส้มควันไม้ ต้องมีค่าเป็นกรด วัดค่า pH ไม่เกิน 3.5 โดยประมาณ อย่างนี้เป็นต้น

     จึงเป็นที่น่าเสียดายที่น้ำส้มควันไม้ ที่พากันเก็บในบ้านเราอยู่ในปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมและเชื่อถือเท่าที่ ควร    เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการนี่เอง เมื่อนำไปใช้แล้วไม่ได้ประโยชน์แถมยังเกิดโทษเสียอีก เพราะเท่ากับเราไปเพิ่มค่าความเป็นด่างให้กับสภาพแวดล้อม

     จึงต้องขอแสดงความเห็นมา ณ.ที่นี้เพื่อจะได้ช่วยกันพัฒนาศึกษาเรียนรู้เรื่องน้ำส้มควันไม้   ให้เกิดความรู้ที่เป็นสาระประโยชน์จริง ๆ กันเสียที 

" ไม่ต้องการให้คนไทย ประเทศไทย เป็นเช่นนี้ต่อไป คือไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามคนไทยเราขี้มักจะรู้ไปหมด ทำเหมือนรู้มากเสียด้วย แต่รู้จริงแค่ไหนไม่มีใครรู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอวดรู้เสียมากกว่า ทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาครอบครัว พัฒนาชุมชน พัฒนาท้องถิ่น และพัฒนาประเทศ ผิดทิศผิดทางกันไปหมด "


*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น