วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

คุณค่าของไม้ไผ่ที่คนไทยยังไม่คุ้นเคย

โดย : ดร. บุญวงศ์   ไทยอุตส่าห์
คณะวนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

****************************************

คุณค่าของไม้ไผ่ที่คนไทยยังไม่คุ้นเคย

            ผมคิดว่าคนไทยทุกคนจะรู้จักไม้ไผ่และเคยได้รับประโยชน์จากไม้ไผ่ ไม่ในทางตรงก็ทางอ้อม ส่วนจะมากหรือน้อยนั้นย่อมแตกต่างกันไป ทั้งนี้เพราะไผ่เป็นพืชสารพัดประโยชน์ซึ่งพบเห็นทั่วไปในทุกตำบล หมู่บ้าน หรือแทบจะทุกครัวเรือนก็ว่าได้
          ในโลกนี้มีไม้ไผ่อยู่ทั้งในเขตร้อน เขตหนาว และเขตอบอุ่นรวมทั้งสิ้น 77 สกุล จำนวน 1,030 ชนิด แต่ส่วนใหญ่พบในเขตร้อนทางตอนใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ซึ่งมีถึง 750 ชนิด สำหรับในประเทศไทยนั้น ข้อมูลในหนังสือ “ไม้ไผ่ในประเทศไทย”  ของ ดร. รุ่งนภา  พัฒน วิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ไผ่ของกรมป่าไม้ ระบุว่ามีอยู่ 15 สกุล 82 ชนิด มีทั้งป่าไผ่ธรรมชาติและไผ่ที่ปลูกขึ้นมา มีทั้งไผ่พื้นเมืองและไผ่ต่างถิ่นซึ่งนำจากต่างประเทศเข้ามาปลูกด้วยวัตถุ ประสงค์หลักแตกต่างกัน
          เป็น ที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า กาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่มีป่าไผ่ธรรมชาติขึ้นอยู่กว้างขวางอ ในขณะที่ปราจีนบุรีเป็นจังหวัดที่มีการปลูกไม้ไผ่มากที่สุดในประเทศไทยและ ไผ่ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นไผ่ตง นั่นคือ เมื่อพูดถึงป่าไผ่ธรรมชาติก็มักจะนึกถึงจังหวัดกาญจนบุรี แต่พอพูดถึงสวนไผ่ตงก็จะนึกถึงจังหวัดปราจีนบุรีเป็นลำดับแรก
          ไผ่ตงเป็นไผ่ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2447  ( คือ 101 ปี มาแล้ว ) ที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อการบริโภคหน่อเป็นเป้าหมายหลัก ต่อมาได้มีการขยายพื้นที่ปลูกออกไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ  และได้มีการส่งออกในรูปของหน่อไม้ไผ่ตงแปรรูป นำเงินตราเข้าประเทศได้สูงถึงปีละกว่าหนึ่งพันล้านบาท มีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศเกือบ 425,000 ไร่
          แต่จากการออกดอกและตายขุยของไผ่ตงในช่วงปี พ. ศ. 2537 -  2539 ทำให้ไผ่ตงอายุกว่า 100 ปี ตายไปกว่า 300,000 ไร่ หลังจากนั่นก็มีการเก็บเมล็ดมาเพาะและคัดเลือกสายพันธ์ใหม่ได้สายพันธ์ดีที่รู้จักกันในชื่อ “ศรีปราจีน” หรือ “ เพชรประจันตาคาม” ตามชื่ออำเภอถิ่นกำเนิดเดิม คือ อำเภอประจันตาคาม จังหวัดปราจีนบุรี
          กองส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รายงานเมื่อปี พ. ศ. 2547 ว่าในปี พ. ศ. 2542 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกไม้ไผ่ตงอยู่ 144,351 ไร่ โดยส่วนใหญ่ปลูกเพื่อการบริโภคหน่อ
          ทว่า ไผ่ตงไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะหน่อเพื่อการบริโภคเป็นอาหารเท่านั้น แต่ลำไม้ไผ่โดยเฉพาะไผ่ตงหม้อและไผ่ตงดำ ซึ่งมีลำขนาดใหญ่ ยาว 20 – 25 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 15 – 20 เซนติเมตร เนื้อไม้หนา 15 – 35 มิลลิเมตร นั้นนิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้างบ้านเรือน และใช้เป็นไม้หลักปักเลี้ยงหอยในทะเล ซึ่งซื้อขายกันที่สวนถึงลำละ 80 – 100 บาท
          นอกจากนี้ ไม้ไผ่แทบทุกชนิดที่มีคุณลักษณะของลำใกล้เคียงกับไผ่ตงยังนิยมใช้เผาถ่านและน้ำส้มไม้อีกด้วย
          น้ำส้มไม้ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่านมีคุณค่านานาประการ ทั้งทางด้านการเกษตร ในครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม โดยจะพูดถึงผลประโยชน์ของน้ำส้มไม้ในเชิงลึกในโอกาสต่อไป วันนี้จะเน้นมาที่ถ่านจากไม้ไผ่ก่อน 
      

ถ่านไม้ไผ่
( Bamboo Charcoal )
     
   ถ่าน ที่จะกล่าวถึงนี้ไม่ใช่ถ่านเพื่อการหุงต้ม หรือถ่านเพื่อให้ความร้อนดังที่คนไทยคุ้นเคยกันมาแต่โบราณกาล แต่เป็นถ่านไม้ไผ่เพื่อสุขภาพซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในประเทศ ญี่ปุ่น แต่การใช้ถ่านไม้ไผ่เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของคนไทยนั้นยังอยู่ในวงจำกัดมาก แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตสูงก็ตาม เพราะประเทศไทยมีไม้ไผ่อยู่มากมายทั่วประเทศ และคนไทยก็มีทักษะในการผลิตถ่านสูงอีกด้วย
     เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ. ย. 2548 ผมและคณะจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ Roger Kjel gren แห่งมหาวิทยาลัย Utah State  ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมการผลิตถ่านไม้ไผ่และผลิตภัณฑ์ถ่านไม้ไผ่ไทย อากาศดี ของชุมชนนำโดย คุณกิตติ  เลิศล้ำ ที่บ้านเลขที่ 110 หมู่ที่ 1 ตำบลสำพันตา  อำเภอนาดี  จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ว่า “บันตัน” (Bunton) โดยมีบริษัทชาร์โคลโฮม กม. 8 เป็นผู้จัดจำหน่าย
          คุณกิตติ เล่าให้ฟังว่า ได้ประสบการณ์การผลิตถ่านไม้ไผ่มาจากชาวญี่ปุ่น โดยชื่อ “บันตัน” นั้นเดิมตั้งใจจะใช้ชื่อว่า “บ้านถ่าน” หรือ Charcoal Home แต่เพื่อนชาวญี่ปุ่นออกเสียงบ้านถ่านเป็นบันตัน ประกอบกับคำว่า “ตัน” ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “ถ่าน” และถ่านเพื่อสุขภาพที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นก็ผลิตจากไม้โอ๊คและไม้ไผ่ ที่หมู่บ้านถ่านที่ชื่อว่า “บินโจตัน”
          คุณกิตติจึงใช้ “บันตัน” : ถ่านไม้ไผ่เพื่อสุขภาพ เป็นชื่อทางการค้าไปเลย และได้รับการคัดสรรจากรัฐบาลให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว ของภาคกลางจากจังหวัดปราจีนบุรีในปี พ. ศ. 2546
          ไม้ ไผ่ที่นำมาเผาผลิตถ่านเพื่อสุขภาพนั้นจะเป็นไม้ไผ่ชนิดใดก็ได้ แต่ที่นิยมมากคือ ไผ่ตง ไผ่เลี้ยง และไผ่สีสุก โดยเฉพาะไผ่เลี้ยงนั้นเผาง่าย เพราะมีการยืดหดตัวน้อย แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ลำไม้ไผ่ที่ใช้ต้องมีอายุตั้งแต่สองปีขึ้นไป ปล้องที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป มีความยาวเหมาะสมมากกว่าท่อนโคนที่อยู่ชิดดินซึ่งเผายากกว่ามาก
          เมื่อได้ไม้ไผ่มาแล้ว ขั้นตอนในการผลิตก็คือ ทอนไม้ไผ่ออกเป็นท่อน ๆ ให้มีความยาวท่อนละ 50 – 100 เซนติเมตร จากนั้นก็นำเข้าเตาเผา 20 วัน ถัดมาก็จะนำถ่านออกมากองไว้หน้าเตา เพื่อแยกคัดเกรดถ่านและนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ถ่านไม้ไผ่เพื่อสุขภาพประเภทต่าง ๆ เพื่อส่งจำหน่ายต่อไป โดยร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์ส่งจำหน่ายภายในประเทศส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 นั้นส่งออกต่างประเทศ แม้ศักยภาพในการผลิตจะมีความพร้อมสูงก็ตาม แต่ถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบในการส่งออกถ่านไม้ไผ่ของทางราชการ
        “บันตัน” : ถ่านไม้ไผ่เพื่อสุขภาพ ผลิตถ่านเดือนละ 22 ตัน ต้องใช้ไม้ไผ่ประมาณเดือนละ 250 – 300 ตัน ไม้สด 1.5 ตัน ไม้น้ำส้มไม้ 35 – 45 ลิตร หรือเฉลี่ยประมาณ 30 ลิตรน้ำส้มไม้ต่อหนึ่งตันของไม้ไผ่
          ดู เหมือนกรรมวิธีการผลิตถ่านไม้ไผ่เพื่อสุขภาพจะไม่ยุ่งยาก แต่ในการปฏิบัติจริงนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดหรือฟังคำบอกเล่า เพราะต้องเริ่มตั้งแต่การก่อเตา การนำไม้เข้า การเรียงไม้ การควบคุมอุณหภูมิ ฯ ล ฯ ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องเผาที่อุณหภูมิมาก ๆ อย่างต่ำต้อง 1,000 องศาเซลเซียส แต่โดยทั่วไปควรจะต้องสูงถึง 1,500 หรือ 1.700 องศาเซลเซียส
        ถ่านที่ได้เรียกว่า “ถ่านขาว” หรือ “White Charcoal” ซึ่งก็มีสีดำสนิทเหมือนถ่านทั่ว ๆ ไปนั่นเอง แต่ถ่านขาวหรือถ่านเพื่อสุขภาพซึ่งต้องเผาที่อุณหภูมิสูง ๆ และมีคุณภาพดีนั้น จะต้องไม่หนักหรือเบาเกินไป เมื่อเคาะถ่านจะมีเสียงดังกังวานคล้ายเสียงเคาะกระเบื้องเคลือบดินเผา เพราะมีความบริสุทธิ์ของธาตุคาร์บอนสูง เมื่อหักดูจะเห็นสีดำเป็นมันวาว และเมื่อใช้นิ้วถูรอยหัก จะไม่มีสีดำของถ่านติดนิ้วมือเลย ส่วนผิวถ่านอาจจะมีสีดำบ้างเล็กน้อย แต่ถ่านจะต้องไม่บวมพอง ไม่บิดเบี้ยวคดงอ ต้องคงรูปของวัตถุดิบเดิม คือ ลำไม้ไผ่อย่างชัดเจน
      ถ่านที่ว่านี้มี ความพรุนในระดับที่พอเหมาะพอควร สามารถปลดปล่อยประจุลบ ซึ่งจะเปลี่ยนอนุมูลอิสระให้เป็นออกซิเจน หากเข้าไปในร่างกายก็จะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น ทำให้การไหลเวียนของระบบโลหิตในร่างกายและระบบการหายใจดีขึ้น สมองปลอดโปร่ง ส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจ
      ผลิตภัณฑ์จากถ่านไม้ไผ่ “บันตัน” นั้นมีมากมายนับสิบ ๆ รายการ แต่ที่เด่น ๆ และเป็นที่ต้องการของตลาดมากในขณะนี้ได้แก่ หมอนถ่านไม้ไผ่ สบู่ถ่านล้างสารพิษ สบู่เหลวธรรมขาติถ่านไม้ไผ่ และแชมพูถ่านไม้ไผ่น้ำแร่
      หมอนถ่านไม้ไผ่ มีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น และความชื้น ให้ประจุลบและรังสีอินฟราเรด ช่วยให้ผ่อนคลาย สดชื่นและการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
      สบู่ถ่านล้างสารพิษ มีคุณสมบัติ สำหรับใช้ชะล้างสิ่งสกปรก ดูดสารพิษในรูขุมขน ขจัดเซลล์ที่ตาย ลดความมัน กำจัดเชื้อแบคทีเรีย ลดการเกิดสิว บำรุงผิวให้สดใส และนุ่มเนียน
    สบู่เหลวธรรมชาติถ่านไม้ไผ่ มีคุณค่าในการบำรุงผิวเพราะอุดมด้วยวิตามินและคุณสมบัติของประจุลบในถ่านไม้ ไผ่ ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรก สารพิษ สารเคมีในรูขุมขน ขจัดเซลล์ที่ตาย รวมทั้งความมัน เชื้อแบคทีเรีย และลดการเกิดสิว
   แชมพูถ่านไม้ไผ่น้ำแร่ มีคุณสมบัติ ช่วยดูดซับสิ่งสกปรก ความมันส่วนเกินของเส้นผมและหนังศีรษะ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบนหนังศีรษะ และเพิ่มการบำรุงด้วยน้ำแร่ ทำให้เส้นผมและหนังศีรษะมีสุขภาพดีขึ้น
       นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ถ่านเพื่อสุขภาพของ “บันตัน”  อีก หลายชนิด อาทิ ถ่านไม้ไผ่วาดรูปศิลปะ ถ่านไม้ไผ่ไอโอไนเซอร์ อโรมาสติก ถ่านไม้ไผ่ซอฟเท็นไรซ์ ถุงดับกลิ่นดีโดชูส์ สเปรย์สมุนไพรไล่แมลง ครีมบำรุงผิววิตามินอี โคลนถ่านไม้ไผ่ดูดสารพิษ ครีมนวดผมน้ำแร่ และน้ำแร่ถ่านไม้ไผ่ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีคุณค่าสูงซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยคุ้นเคยแทบทั้งสิ้น
        นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ถ่านไม้ไผ่ไทยอากาศดี หรือ “บันตัน.” ถ่านไม้ไผ่เพื่อสุขภาพ ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ถ่านยิ่งกว่าถ่านที่เราคุ้นเคยกันมาช้านาน
         หากถ่านจะเป็น “ฅนเอาถ่าน” และสนใจอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ คุณกิตติ เลิศล้ำ หรือ คุณอรอนงค์ เลิศล้ำ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 081 813 1935


คัดลอกจาก  นิตยสาร 
ไม่ลอง ไม่รู้
คอลัมน์ไม้เศรษฐกิจ  : คุณค่าของไม้ไผ่ที่คนไทยยังไม่คุ้นเคย
ฉบับที่  54  ประจำเดือน มกราคม  2549
เฒ่าเผาถ่านพิทักษ์โลก
 http://www.bantanthai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น